วางตัวอย่างไรให้กลายเป็น ‘เซฟโซน’ หรือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของคนรอบข้าง

06 Jun 2023 - 6 mins read

Health / Mind

Share

ความโชคดีอย่างหนึ่งของชีวิต คือความอุ่นใจทุกครั้งเมื่อรู้ว่าตัวเราเองไม่ได้ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง

 

ทั้งในยามสุข เศร้า เหงา หรือในช่วงเวลายากลำบากที่ชีวิตถูกบีบคั้นจากความล้มเหลว ความผิดหวัง และความพลั้งพลาด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังรู้สึกวางใจได้เสมอ เพราะมี ‘ใครสักคน’ คอยอยู่เคียงข้างไม่ห่าง

 

ใครสักคนที่ว่า อาจเป็นคนใกล้ ๆ ที่เรารู้สึกสนิทใจเวลาอยู่ด้วย หรือไม่ก็เป็นคนแรก ๆ ที่เราคิดถึง เมื่อเกิดเรื่องทุกข์ใจแล้วไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร คนคนนั้นแหละ คือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ทุกคนต่างมองหาและปรารถนาให้มีใครสักคนช่วยทำหน้าที่นี้ในชีวิต

 

 

เข้าใจ : ความหมายของ ‘พื้นที่ปลอดภัย’

 

ก่อนอื่น บทความนี้จำเป็นต้องอธิบายถึงที่มาที่ไปของคำว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันของผู้อ่าน เพราะเป็นคำที่แปลตรงตัวมาจาก ‘Safe Space’ หรือ ‘Safe Zone’

 

แม้คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและนิยมใช้คำทับศัพท์ว่า ‘เซฟโซน’ มากกว่าคำอื่น ๆ แต่ทั้งสามคำนี้ ต่างก็เป็นศัพท์เฉพาะทางจิตวิทยาที่สื่อความหมายเดียวกัน หมายถึง ความรู้สึกปลอดภัยที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา ทำให้เรากล้าเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ขณะอยู่ต่อหน้าใครบางคน เพราะคนผู้นั้นไม่เคยตัดสิน ต่อว่า ตีตรา ด้อยค่า ซ้ำเติม และเลือกปฏิบัติต่อเราในทางที่ไม่ดี

 

ถึงจะมีคำว่า ‘พื้นที่’ และ ‘โซน’ อยู่ด้วย แต่ความหมายที่แท้จริงของ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ หรือ ‘เซฟโซน’ กลับไม่ใช่สถานที่โล่งกว้าง ซึ่งปราศจากวัตถุและสิ่งของอันตรายที่สุ่มเสี่ยงทำให้ร่างกายของเราบาดเจ็บได้ แต่หมายถึง ตัวบุคคลที่อยู่รายล้อม อาจเป็นได้ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก เพื่อนร่วมงาน หรือใครก็ตามที่สนิทชิดเชื้อกับเราและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอมา ในสายตาของเรา จะมองเห็นคนคนนั้น เป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจ

 

รวมไปถึงนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด และจิตแพทย์ หรือคนที่คอยให้คำแนะนำปรึกษาเวลาเราประสบปัญหาและมีเรื่องทุกข์ใจด้วย

 

 

เข้าถึง : เหตุผลที่ทุกคนมองหา ‘พื้นที่ปลอดภัย’

 

ในทางจิตวิทยา ‘ความปลอดภัย’ ถือเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ความจริงข้อนี้ยืนยันได้จากทฤษฎี Hierarchy of Need Theory ของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) นักจิตวิทยาและนักปรัชญาชาวอเมริกาผู้มีชื่อเสียงระดับโลก แม้จะเป็นทฤษฎีที่มีมาตั้งแต่ปี 1950 แต่แนวคิดของมาสโลว์ยังคงได้รับการยอมรับในวงการจิตวิทยาจนถึงปัจจุบัน และถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ อีกหลากหลายแขนงอยู่ตลอด

 

มาสโลว์เชื่อว่า ทุกคนต้องการความปลอดภัยในชีวิตและที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เพราะความรู้สึกปลอดภัยจะช่วยทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่าจะเกิดภัยร้ายกับตัวเอง

 

เช่นเดียวกับ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ หรือ ‘เซฟโซน’ ที่ลึก ๆ ภายในใจของทุกคนต่างใฝ่หาคนสำคัญซึ่งดีพอจะเป็นที่พึ่งทางใจให้เราได้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มักจะถูกตัดสินจากอคติอย่าง LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

กลายเป็นว่าเวลาเกิดเรื่องทุกข์ใจ พวกเขากลับต้องพยายามหาหนทางเพื่อฝ่าฟันปัญหาเหล่านั้นอย่างยากลำบากด้วยตัวคนเดียว เพราะขาดเซฟโซนจึงไม่มีใครคอยปลอบใจและให้ความช่วยเหลือในทางตรงกันข้าม จะดียิ่งกว่าหากคนที่อยู่ใกล้ชิด จะรับหน้าที่เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เหมือนฟูกอ่อนโยนคอยโอบรับพวกเขาให้ล้มตัวลงพักกายและใจได้อย่างไร้กังวล

 

 

เข้าร่วม : รู้จักวิธีวางตัวเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ 

 

ถึงแม้บทความนี้ได้เกริ่นไว้ตอนต้นว่า การมีใครสักคนเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เรานั้น คือความโชคดีของชีวิต แต่ความโชคดีแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดวง เพราะเป็นความโชคดีที่เกิดขึ้นได้จากการสร้าง เพียงแค่ต้องรู้วิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งความคิดและการกระทำ เพื่อทุกคนจะได้เป็น ‘เซฟโซน’ ของกันและกัน โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังให้อยู่คนเดียว ด้วยวิธีการต่อไปนี้

 

  • สำรวจตัวเอง : ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง คือ วินาทีที่เราเริ่มรู้ตัวว่า ถึงเวลาต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อพาชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างไปในทางที่ดีกว่า โดยปรับความคิดให้ยอมรับและเคารพความหลากหลายของแต่ละคน ไม่สำคัญว่าเป็นใคร เพศอะไร และเชื่อเรื่องใด ให้เราวางอคติทุกอย่างที่เคยยึดถือเอาไว้ ไม่ด่วนตัดสินหรือรีบตั้งแง่ แล้วมองทุกคนเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง แม้แต่ตัวเราเอง
     
  • ปรับเปลี่ยนท่าที : ภาษากายหรือการแสดงออกท่าทางสามารถบอกให้คนอื่นรู้ได้ว่าตัวเราน่าเข้าหาหรือไม่ควรอยู่ใกล้ ๆ การจะเป็น ‘เซฟโซน’ ให้คนอื่นมองเห็นเราเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ จำเป็นต้องวางตัวให้มีท่าทีเปิดรับและเป็นมิตร สีหน้ายิ้มแย้ม เมื่อมีคนมาปรับทุกข์หรือปรึกษาปัญหา อาจใช้สัมผัสที่อ่อนโยนเพื่อคลายความตึงเครียด เช่น จับมือ กุมมือ ลูบเบา ๆ บริเวณหลังมือ สำหรับคนที่สนิทกันมาก ๆ อาจโอบกอด ลูบหลัง และแตะบริเวณช่วงไหล่ถึงบ่า

 

  • เปิดใจให้กว้าง : ขณะตั้งใจฟังเรื่องราวต่าง ๆ แม้จะขัดแย้งกับความเชื่อของเรา แต่ให้เปิดใจกว้าง และทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นด้วยความเป็นเหตุและผล เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขให้ปัญหาคลี่คลายลงได้ ค่อย ๆ ใช้เวลาร่วมกันคิดโดยไม่ต้องเร่งรีบ เพราะความรู้สึกของคนที่กำลังนั่งเป็นทุกข์อยู่ตรงหน้า คือ คนที่เราควรใส่ใจและห่วงใยมากที่สุด
     
  • ทุกคำพูดคือพลัง : คิดก่อนพูดเสมอว่าคำที่กำลังจะพูดออกไป เป็นการทำร้ายหรือให้กำลังใจกันแน่ เพราะคำพูดสามารถเปลี่ยนชีวิตคนเราได้จริง จึงควรเลือกใช้คำพูดที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้พลังบวก และกอบกู้ความภูมิใจในตัวเอง นอกจากนี้ หากมีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ก็สามารถแบ่งปันมุมมองและเรื่องราวของตัวเองได้ เพื่อไม่ให้ใครรู้สึกว่าเจอปัญหาอยู่คนเดียว เพราะยังมีคนอีกมากเคยเจอปัญหาคล้าย ๆ กันมาก่อน แล้วทุกคนก็ผ่านพ้นไปได้

 

  • ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา : แม้ว่าตัวเราอยากปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้ได้ดั่งใจนึก แต่ขึ้นชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป เพราะกว่าที่ตัวเราจะมองเห็นใครเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อใจว่า เราสามารถปรับทุกข์และระบายความอัดอั้นตันใจได้อย่างสนิทใจหรือเปล่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาคนอื่นตัดสินใจว่าเราดีเพียงพอสำหรับเป็น ‘เซฟโซน’ ในสายตาของเขาหรือไม่ ถ้าเราจริงใจกับตัวเองและคนอื่นอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เราย่อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนใกล้ ๆ ได้แน่นอน

 

ไม่ว่าใคร หากวางตัวและทำตามวิธีการทั้งหมดนี้อย่างสม่ำเสมอ ทุกคนจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของคนรอบข้างได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะคิดกับเราอย่างไร แล้วเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายให้คนทั้งโลกเข้าใจตัวตนของเรา ขอแค่มีคนสำคัญช่วยเป็น ‘เซฟโซน’ ก็เพียงพอแล้ว

 

เพราะการมีเขาหรือเธอผู้นั้นอยู่ในชีวิต สามารถเป็นหลักประกันได้ว่า ต่อให้เจอเรื่องแย่แค่ไหน แต่ทั้งกำลังใจและแรงสนับสนุนจากคนที่เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ จะช่วยทำให้เราพาตัวเองก้าวผ่านเรื่องราวทุกอย่างไปได้ด้วยดี

 

 

อ้างอิง

 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...