สำรวจเส้นทางชีวิตที่เบ่งบานแบบยั่งยืนของ “เชอรี่ เข็มอัปสร”

19 Nov 2022 - 13 mins read

Better Life / People

Share

“ถ้าเมื่อ 7 ปีที่แล้วมีคนบอกว่า ในอนาคตเชอรี่จะอยู่ในวงการสิ่งแวดล้อม เชอรี่คงหัวเราะ จริงเหรอคะ จะเป็นไปได้ยังไง” เชอรี่ - เข็มอัปสร สิริสุขะ เล่าถึงสถานการณ์สมมติพลางยิ้มให้กับเส้นทางชีวิตที่พลิกผันในช่วง 7 ปีมานี้ จากนักแสดงสาวฝีมือดีที่ค่อย ๆ ห่างหายไปจากงานเบื้องหน้า แล้วผันตัวมาลุยงานด้านสิ่งแวดล้อมแบบถลำลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เส้นทางสีเขียวของเชอรี่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 เมื่อเธอเข้าร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเพื่อลงพื้นที่แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่าน เธอได้เห็นกับตาว่าพื้นที่ป่าในประเทศไทยลดลงไปมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอกับเพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์ช่วยกันศึกษาหาข้อมูล และก่อตั้งโครงการ Little Forest กิจกรรมปลูกป่าที่สวนป่าวังชิ้น ในจังหวัดแพร่ ตามด้วยโครงการ Little Big Green แพลตฟอร์มนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้ผู้คนหันมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม 

 

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ : Destinare, Better Being Sanctuary

ช่วงวิกฤติโควิด-19 เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เชอรี่จึงไม่รอช้า เดินหน้าหาทางช่วยเหลือชาวนาไทยด้วยการรับซื้อข้าวอินทรีย์จากชุมชนบ้านโคกสะอาด จังหวัดสุรินทร์ แล้วจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ “สิริไท” ซึ่งมาจาก “สิริสุขะ” นามสกุลของเธอ รวมกับคำว่า “ไท” ที่แปลว่า อิสระ นั่นเอง

 

“ชุมชนบ้านโคกสะอาดปลูกข้าวอินทรีย์มาก่อนหน้านี้ 7 ปี จนถึงวันนี้ก็เกือบ 10 ปีแล้ว ที่พวกเขายังคงเข้มแข็ง และหาหนทางว่าต้องเอาตัวรอดอย่างไร งานแบบนี้ต้องอาศัยความอดทน เพราะก่อนจะลงมือปลูกข้าวอินทรีย์ นาแปลงนั้นจะต้องไม่มีการใช้สารเคมีเลยสามปีล่วงหน้า มีชาวบ้านหลายคนรอไม่ไหว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมันเป็นเรื่องของปากท้อง ดังนั้นคนที่ยังทำต่อมาได้จนถึงตอนนี้จึงมีความเข้มแข็งทางจิตใจ และมีความอดทนสูงมาก เพราะต้องใช้ทั้งแรง และเวลามากขึ้น สิริไทเลยเต็มใจที่จะให้เขาตั้งราคาขายที่เขาแฮปปี้”

Forest Bathing: หนึ่งประตูบานสำคัญที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าหาธรรมชาติ 

จากจุดเริ่มต้นที่ได้พาคุณพ่อไปมีส่วนร่วม มาจนถึงการลองทำกิจกรรม “อาบป่า” ด้วยตัวเธอเอง เพื่อพาผู้คนที่สนใจได้เดินทางเข้าไปสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ เชอรี่เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งประตูบานสำคัญที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าหาธรรมชาติแบบไม่ต้องพูดเยอะ

 

“เชอรี่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์อาบป่าครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นพาคุณพ่อไปหาหมอ ระหว่างที่ท่านรักษาตัวเราก็อยากหากิจกรรมที่รีแลกซ์ทำ จนไปเสิร์ชเจอคนอาร์เจนตินาที่ไปศึกษาการอาบป่าจนได้ประกาศนียบัตรรับรองจากญี่ปุ่น เขาจัดกิจกรรมอาบป่าที่มิวนิก เชอรี่เลยพาพ่อไปร่วม 2 ชั่วโมง ซึ่งช่วยเพิ่มพลังให้เราได้ดีมาก สำหรับคุณพ่อเองจากคนที่ไม่ได้นั่งสมาธิเป็นประจำ หรือไม่ได้ชื่นชอบการเดินป่าธรรมชาติ ก็ดูอินและรีแลกซ์มากขึ้น”

การจัดกิจกรรมอาบป่าที่บ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร เธอทำทุกอย่างตั้งแต่วางแผน สำรวจเส้นทาง และนำอาบป่าด้วยตัวเธอเอง โดยอยากลองเอาเรื่องของการทำสมาธิที่ตัวเองปฏิบัติมาสิบกว่าปี มาผสานเข้ากับประสบการณ์อาบป่าที่เคยสัมผัสมา บวกกับอ่านหนังสือเกี่ยวกับการอาบป่าหลายเล่ม

 

“เชอรี่เป็นคนนำอาบป่าด้วยตัวเอง และดีไซน์เส้นทางการเดินอาบป่าจากการเดินสำรวจล่วงหน้า จะได้รู้ว่าตรงไหนที่เราอยากให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้หยุดพัก เพื่อเล่าให้ฟังว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นเรื่องของสัมผัสแบบไหน เพราะการอาบป่าต้องใช้ทั้ง 6 ผัสสะร่วมกัน ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ ซึ่งเชอรี่จะเน้นที่เซนส์ด้านจิตใจร่วมกับเซนส์ทางร่างกาย”

 

“ในการเริ่มต้นอาบป่า เชอรี่จะต้อนรับทุกคนด้วยน้ำเกลือชมพู เป็นเหมือน Welcome Drink เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึม Negative Ion ในป่าได้ดียิ่งขึ้น จากนั้นจะพาสมาชิกอาบป่าประมาณ 10 คน เดินผ่านนาข้าว แนะนำให้เขาได้รู้จักว่าข้าวสิริไทปลูกขึ้นในนาผืนนี้ เมื่อมาถึงจุดที่จะเข้าป่าก็จะเกริ่นประวัติความเป็นมาของการอาบป่าให้ฟัง จากนั้นพาเดินเข้าประตูป่า ได้เห็นนาข้าว เห็นสายน้ำที่ไหลผ่านป่าตลอดเส้นทาง จนถึงจุดที่เราจะทำกิจกรรมร่วมกัน” 


ขอบคุณภาพจาก Instagram : cherrykhemupsorn​

การเปิดใจสัมผัสด้วยผัสสะทั้งหมดของตัวเราเอง คือหัวใจของการอาบป่า ที่เธอย้ำว่ามีความต่างจากการเดินป่าที่เรารู้จัก “การอาบป่าเป็นการที่เราให้เวลากับตัวเอง และได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เป็นการค่อย ๆ เดิน สังเกตแล้วใช้เซนส์ของตัวเอง ถ้าจะเน้นเรื่องของการสัมผัสก็ลองจับดู จับชนิดให้รู้ว่าสัมผัสนี้เป็นอย่างไร ลำต้นของต้นไม้ที่มีความหยาบ มีริ้วรอยแบบนี้ จับไปแล้วรู้สึกอย่างไร ใบไม้แต่ละใบเวลาจับไปแล้วให้สัมผัสที่ต่างกันอย่างไร ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร”

 

“หรือแม้กระทั่งกลิ่น กลิ่นที่เราไม่ได้ตั้งใจดม กลิ่นที่ลอยมาปะทะจมูกเราเองเวลาเดินอยู่ในป่า มันทำให้เรารู้สึกอย่างไร หูได้ยินเสียงที่อยู่ใกล้ เสียงที่อยู่ไกล ได้ยินอะไรบ้าง เรื่องของรสก็มีตั้งแต่การอ้าปากแลบลิ้นชิมบรรยากาศของป่าเลยก็ได้ ส่วนเราจะมีชาข้าวเตรียมไว้ให้จิบในป่า อยากให้สัมผัสถึงการที่กว่าจะเบลนด์มาเป็นชาแก้วที่อยู่ในมือต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย” 


ขอบคุณภาพจาก Instagram : cherrykhemupsorn​

ไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือกี่ร้อยเล่มก็ไม่เหมือนได้มาอาบป่าสักครั้ง เพราะประโยชน์ที่ได้มากกว่าที่คิดไว้หลายเท่า “ที่สำคัญคือ ในป่าจะมีประจุไฟฟ้าที่ช่วยในการรักษาเยียวยาร่างกาย เรียกว่า Phytoncide คล้าย ๆ Essential Oil ที่ต้นไม้ผลิตออกมา สังเกตสิว่าเวลาที่เราเข้าไปในป่า เราจะรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที เพราะมี Negative Ion ซึมเข้าไปในร่างกายของเรา เขาถึงใช้คำว่า อาบป่า หรือ Bathing เพราะมันเหมือนการได้แหวกว่ายในผืนป่าจริง ๆ ละอองป่าอาบทุกอณูของเรา และซึมทะลุผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด จึงช่วยในแง่ของภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ลดคอเลสเตอรอล ลดความดัน ว่ากันว่าแค่ 15 นาทีในการอาบป่าจะช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นเดือนเลย”

 

“กิจกรรมอาบป่าเพิ่งจัดไปแค่ครั้งเดียว ซึ่งฟีดแบ็กส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกอิน หลายคนที่เครียดจากงานมาก็บอกว่าสิ่งนี้ช่วยเขามาก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าใช้เวลาแค่ชั่วโมงนิด ๆ ในป่าก็สามารถลดความเครียดได้”


ขอบคุณภาพจาก Instagram : cherrykhemupsorn​

ค้นพบธรรมะในธรรมชาติ

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รวมถึง 3 ปีโควิดสุดเข้มข้น หลายครั้งที่ท้อขนาดที่เธอใช้คำว่า ล้มลุกคลุกคลาน ถึงแม้ยังเดินไปไม่ถึงจุดที่ตั้งใจ แต่อะไรคือสิ่งที่ยังยึดเหนี่ยวให้เธอเดินหน้าต่อ

 

“แบรนด์สิริไทเกิดขึ้นจากความตั้งใจอยากช่วยเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เชอรี่จึงตั้งมาตรฐานไว้สูงมากในแง่ของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบสูงสุด โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องทุนหรือกำไรเลยในตอนแรก แต่พอในแง่ธุรกิจมันไปไม่ได้ เราก็ต้องคิดแล้วว่าทำอย่างไรให้มาตรฐานเรายังสูงเหมือนเดิม แต่ธุรกิจต้องไปได้ด้วย ซึ่งก็เป็นความท้าทายอย่างนึง แต่เราก็ยังสนุกอยู่ มีไปลงเรียนคอร์สนั้นคอร์สนี้ เพื่อเอามาเพิ่มเติมในสิ่งที่เราอยากเห็นแบรนด์สิริไทไปต่อได้”

 

“ชีวิตสอนเชอรี่หลายอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเปลี่ยนแปลง ให้เราต้องปรับตัว เรียนรู้ และยอมรับในหลาย ๆ เรื่อง เช่น หลังจากที่เริ่มทำด้านสิ่งแวดล้อมมาสักพัก เชอรี่ถึงได้เรียนรู้กับการที่จะทำอย่างไรให้เราทำแล้วไม่ทุกข์ ทำแล้วยังมีความหวัง เพราะเมื่อ 7 ปีที่แล้วคนวงกว้างยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม พูดปุ๊บบางคนก็เบือนหน้าหนีแล้ว ทำให้เชอรี่เกิดความท้อแท้มากในช่วงแรก ๆ เพราะเราเป็นคนทำอะไรทำเต็มที่ ทุ่มเท พอเราทุ่มเททุ่มใจไปเยอะแล้วไม่ได้อย่างที่คาดหวัง เราก็เฮิร์ท พอเกิดความทุกข์แบบนั้นก็รู้สึกว่าไม่ดีเลยที่เราทำแล้วเกิดการคาดหวัง”

Forest for Love: กลไกแปรรูปความรัก

ล่าสุดสิริไทแตกแบรนด์ย่อยออกมาเพื่อผลิตสินค้าด้านไลฟ์สไตล์ในชื่อ Forest for Love ทั้งพวกเทียน สบู่ที่ทำจากน้ำมันรำข้าวพรีเมียมออร์แกนิก จากแหล่งผลิตข้าวในอำภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และสินค้าตัวล่าสุดคือขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากข้าวหลากรสเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่อยากให้ทุกคนได้ชิมความอร่อยของข้าวไทย

 

“เชอรี่มองว่าถ้าสินค้าเกษตรสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็น่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลยลองแปรรูปข้าวเป็นขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ อีกอย่างคือ เชอรี่เป็นคนชอบรับประทานขนมแต่ก็ดูแลรักษาสุขภาพด้วย เลยเป็นส่วนผสมที่เราต้องการทำให้ตัวเราเองกินด้วยแหละ (หัวเราะ)”

 

“เชอรี่พูดกับทีมเสมอว่า ถ้าแบรนด์ไปต่อไม่ได้ เชอรี่ต้องสูญเสียกำลังใจแน่นอน แต่เราก็ต้องพยายามไปต่อให้ได้ แม้เราจะยังมีจุดอ่อนตรงที่ขายของไม่เก่ง แต่ก็จะพยายามต่อไป โดยเน้นเรื่องของการสนับสนุนชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง”

 

ใครสนใจอยากอุดหนุนเกษตรกรไทยและสิริไท ลองเข้าไปดูได้ที่ Line OA : sirithaibrand / IG,FB @sirithaibrand / Line shop / Shopee

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...