พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กับก้าวใหม่ของ ‘ขายหัวเราะ’ เพราะความขำไม่จำกัดแค่ในหนังสือ

21 Jul 2023 - 9 mins read

Better Life / People

Share

มีคนไม่น้อยที่เคยอ่าน ‘ขายหัวเราะ’

 

โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก เพราะเป็นหนังสือการ์ตูนไทยเล่มกะทัดรัดที่อัดแน่นไปด้วยการ์ตูนช่อง แก๊กตลก และเรื่องชวนหัวเราะ ที่คอยให้ความเพลิดเพลินและเรียกเสียงหัวเราะได้สมกับชื่อหนังสือ

 

แม้เวลาจะล่วงเลยผ่าน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม สื่อสิ่งพิมพ์มากมายห่างหายไปจากแผง แต่ชื่อของ ‘ขายหัวเราะ’ กลับยังคงอยู่คู่กับคนไทยมาได้ทุกยุคทุกสมัยตลอดเวลา 50 ปีเต็ม

 

คงไม่ใช่แค่การปรับตัวให้ธุรกิจไปต่อได้เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้ ‘ขายหัวเราะ’ สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อส่งต่อความขำขันและความสนุกที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นของแบรนด์ไว้ได้ คือ หัวคิดและมุมมองที่แตกต่างของผู้บริหารคนใหม่

 

LIVE TO LIFE ร่วมพูดคุยกับ นิว - พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาท บ.ก.วิติ๊ด ผู้เข้ามารับไม้ต่อธุรกิจอารมณ์ดี ต่อจากรุ่นที่สอง (คุณพ่อ - วิธิต อุตสาหจิต) และรุ่นบุกเบิก (คุณปู่ - บันลือ อุตสาหจิต) พร้อมความตั้งใจสืบทอดกิจการให้เป็นมากกว่าหนังสือการ์ตูน เพราะเธอเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่สามารถพัฒนาและผลักดันการ์ตูนและคาแรกเตอร์ไทยไปสู่ Soft Power และ Creative Economy ระดับโลก

 

ภาพจำ ‘ขายหัวเราะ’ ของคุณนิวเป็นอย่างไร

“ตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อและคุณแม่จะพานิวมาเลี้ยงระหว่างทำงานที่ออฟฟิศ ทำให้นิวโตมากับกองต้นฉบับและกองหนังสือการ์ตูน เพียงแต่ในตอนนั้น ด้วยความที่ยังเด็ก จึงรู้แค่ว่า ขายหัวเราะคือหนังสือการ์ตูนตลกที่เราชอบหยิบมาเปิดอ่าน”

 

“กว่าจะรู้ว่าเป็นผลงานของคุณพ่อก็ตอนโตแล้ว เพราะเพื่อนและคนรอบข้างจะทักนิวว่า ‘ลูก บ.ก.วิติ๊ด’ (หัวเราะ) เราซึมซับความเป็นขายหัวเราะมาตั้งแต่เด็ก แต่ระหว่างอ่านไม่เคยเอะใจเลย ตอนที่รู้ภายหลังว่า ตัวการ์ตูนสวมแว่นและใส่สูทสีน้ำเงินในหนังสือคือคุณพ่อของเราเอง ยิ่งทำให้นิวรักขายหัวเราะเข้าไปใหญ่”

 

เมื่อรู้ว่าตัวเองต้องรับหน้าที่บริหาร ‘ขายหัวเราะ’ เป็นรุ่นที่ 3 ในใจตอนนั้นคิดถึงอะไรบ้าง

“คุณพ่อไม่เคยพูดเป็นกิจจะลักษณะว่าอยากให้นิวรีบเข้ามาดูแลธุรกิจต่อ เพราะคงอยากให้อิสระกับเรา แต่นิวค่อนข้างรู้ตัวประมาณหนึ่ง เพราะนิวเป็นลูกสาวคนโตที่เลือกเรียนปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งตรงสายกับธุรกิจขายหัวเราะ แล้วนิวก็เป็นหนอนหนังสือ ชอบขีด ๆ เขียน ๆ เป็นงานอดิเรกอยู่แล้วด้วย มีความชัดเจนว่ามาทางด้านนี้ตั้งแต่เด็ก”

 

“พอเราแน่ใจกับเส้นทางชีวิตตัวเอง และรับรู้ได้ถึงความคาดหวังลึก ๆ ในใจของคุณพ่อ นิวจึงทบทวนว่า ยังต้องเติมอะไรอีกบ้างเพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านธุรกิจที่อังกฤษ ไปเรียนรู้วิธีบริหารธุรกิจคอนเทนต์ให้อยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน หลังจากเรียนจบแล้วกลับมาไทย นิวพักแค่วันเดียวก็เข้ามาเริ่มทำงานเลย”

 

ระหว่างตอนเป็นเด็กที่อยู่ท่ามกลางบรรยากาศการทำงานของคุณพ่อ กับวันที่ต้องทำหน้าที่บริหารงานเอง แตกต่างกันไหม

“แตกต่างกันมาก (เน้นเสียง) ตอนเด็กเราเป็นแfเกาะค่คนอ่านขายหัวเราะ นิวยังจำได้ว่า เคยมีนิตยสารมาสัมภาษณ์คุณพ่อ แล้วเขาถามนิวถึงอาชีพที่ใฝ่ฝัน นิวเขียนตอบไปว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนค่ะ จะช่วยคุณพ่อทำงานค่ะ’ เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่มีแต่ความสนุก ไม่ได้ยากอะไร”

 

“แต่พอถึงตอนที่ต้องมาเป็นคนทำงานจริง ๆ ด้วยความรับผิดชอบที่มากขึ้น ทำให้นิวต้องใช้ความคิดตลอดเวลา ทุกวันนี้นิวไม่ได้อ่านการ์ตูนด้วยความบันเทิงอย่างเดียวเหมือนตอนเด็ก เพราะต้องคิดตามและตั้งคำถามด้วยว่า คุณภาพแบบนี้ใช้ได้ไหม มีอะไรต้องพัฒนาหรือเปล่า แม้แต่เวลาดูผลงานของคนอื่นที่เราชื่นชอบ ก็จะดูและวิเคราะห์ด้วยความคิดที่พร้อมทำงานอัตโนมัติในหัว เพราะนิวมองว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ เราสามารถนำเอาจุดเด่นที่พบเจอมาปรับใช้ได้ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้น่าสนใจ เป็นความต่างที่สนุกคนละแบบ”

 

อะไรคือหลักสำคัญของการทำธุรกิจในแบบฉบับของ ‘ขายหัวเราะ’ ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“นิวเติบโตมากับคุณพ่อและคุณปู่ที่นอกจากทำธุรกิจสำนักพิมพ์แล้ว ยังทำธุรกิจโรงพิมพ์ด้วย ซึ่งภาพชินตาของนิวตั้งแต่เด็กคือ ทั้งสองท่านมักพูดคุยกันแต่ว่า ตอนนี้มีเทรนด์อุตสาหกรรมการพิมพ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง ต่างคนต่างหาวิธีการใหม่ ๆ มาช่วยให้พิมพ์ได้ถูกลง เร็วขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจตลอดเวลา”

 

“ทั้งสองท่านไม่เคยหยุดคิดหยุดทำ หยุดขยายงาน แม้ว่าธุรกิจจะอยู่ในจุดที่ทุกคนบอกว่าประสบความสำเร็จแล้ว พอเราโตมากับภาพจำและบรรยากาศแบบนี้ ทำให้เรายึดคุณพ่อและคุณปู่เป็นแบบอย่างโดยธรรมชาติ เขาไม่ได้สอนตรง ๆ แต่ทำให้เห็นและเป็นแบบอย่างให้เรา นิวคิดว่าสิ่งสำคัญนี้คือ Growth Mindset ต้องหมั่นเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา นี่คือหลักการทำธุรกิจที่คนในครอบครัวหล่อหลอมเรามา”

 

กว่า ‘ขายหัวเราะ’ จะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีทั้งช่วงที่เติบโตและช่วงที่ต้องปรับตัว ทั้งหมดเกิดจากการเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง

“นิวรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ขายหัวเราะเติบโตและก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ มาได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลา Disruption ก่อนหน้านี้ ที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ทำให้คนหันไปอ่านคอนเทนต์ในสื่อออนไลน์แทนสื่อสิ่งพิมพ์”

 

“ตอนนั้นเป็นบรรยากาศฝุ่นตลบ เพราะธุรกิจที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลักต่างก็ประสบความท้าทายนี้เหมือนกัน กลายเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเจอ ไม่มีตัวอย่างหรือโมเดลธุรกิจให้เราได้ศึกษาเป็นแนวทาง ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เราต้องเรียนรู้เองให้ไวและรีบปรับตัวให้เร็วที่สุด”

 

“ถึงตอนนี้ ขายหัวเราะก็ยังต้องปรับตัวต่อไปเรื่อย ๆ เพราะทุกอย่างบนโลกเปลี่ยนแปลงตลอด มีสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้น มีสื่อใหม่ ความคิดและพฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปทุกวัน ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร หากคิดและทำแบบเดิมโดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าอยู่ไม่รอด ในฐานะคนทำงาน นิวดีใจมากที่ขายหัวเราะสามารถปรับตัวและอยู่คู่กับคนไทยมาได้ทุกยุค นิวเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไรอย่างเอาจริงเอาจัง สิ่งนั้นจะสำเร็จตามที่เราอยากให้เป็น”

 

โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ความขบขันของคนก็เปลี่ยนตามไปด้วย อะไรทำให้ ‘ขายหัวเราะ’ ยังคงรักษาความทะเล้น และส่งต่ออารมณ์ขันให้คนทุกยุคได้

“แต่ก่อนการ์ตูนตลกมักถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่มีมูลค่า เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าอยู่ในหนังสือพิมพ์จะอยู่ในหน้าเสริมรวมกับคอลัมน์อื่น ๆ มากกว่าที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพระเอก”

 

“ในขณะที่การ์ตูนไทยแบบเล่มสมัยก่อนมักจะเป็นการ์ตูนเรื่องยาว ลายเส้นจะเน้นความสมจริงจริงจังและมักเป็นลายเส้นของศิลปินคนเดียวตลอดเล่ม แต่ขายหัวเราะเปิดตัวแปลกใหม่ในยุคนั้น ด้วยการเป็นหนังสือการ์ตูนแก๊กตลกที่รวมความสนุกหลากหลายรสชาติลงไปในเล่ม และวาดโดยศิลปินหลากหลายลายเส้น เน้นความสนุกและอารมณ์ขันเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครทำ รวมถึงการที่คุณพ่อเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มาก่อน ก็ได้นำเทคนิคมุมมองฉากแบบภาพยนตร์มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ภาพการ์ตูนด้วย ทำให้ขายหัวเราะได้รับการตอบรับที่ดีมากตั้งแต่ตอนเปิดตัว และสร้างภาพจำการ์ตูนแก๊กตลกขึ้นในประเทศไทย”

 

“ต้องยกเครดิตให้คุณปู่และคุณพ่อที่เห็นว่าสิ่งนี้มีมูลค่าและนำมาต่อยอดได้ จึงเริ่มวางรากฐานและผลักดันการ์ตูนไทยให้เป็นที่รู้จัก แล้วขายหัวเราะในยุคคุณพ่อ ก็ได้วางคาแรกเตอร์ของแบรนด์การ์ตูนไว้ชัดเจน เกิดเป็นภาพจำและความผูกพันระหว่างคนอ่านกับขายหัวเราะที่ทุกคนมีตรงกัน เราจึงแทบไม่ต้องอธิบายตัวเองว่าคือใคร หรือทำอะไร”

 

“อีกบทบาทหนึ่งที่คนอ่านยกย่องขายหัวเราะ คือ ทำหน้าที่เป็นจดหมายเหตุตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขายหัวเราะก่อตั้งมาเข้าปีที่ 50 เราบันทึก ล้อ แซวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยและทั่วโลกมาตลอด อย่างเล่มแรก ๆ มีมุกตลกแซวแฟชั่นกางเกงขาบานของเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ที่ฮิตในยุคนั้น หรือล้อแซวดาวหางฮัลเลย์ที่โคจรมาใกล้โลก หรือตอนที่ไมเคิล แจ็คสัน (Michael Jackson) มาไทยครั้งแรก ขายหัวเราะก็เคยแซวไว้”

 

“แต่ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยประเด็นละเอียดอ่อน ทุกเรื่องกลายเป็นดราม่าได้หมด เรายิ่งต้องตื่นตัวและระมัดระวังให้มาก เพราะขายหัวเราะตั้งใจล้อประเด็นสังคมอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้อารมณ์ขันเป็นสื่อบันเทิงแล้วค่อยชวนให้ฉุกคิดตาม และต้องเป็นเสียงหัวเราะที่ไม่ทำร้ายใคร ไม่หยาบคาย ไม่โจมตี ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ทำให้ใครรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจจากมุกตลก”

 

“แล้วพื้นฐานของการสร้างการ์ตูนตลกก็เป็นพื้นฐาน Storytelling หรือการเล่าเรื่องแบบ เปิด-ชง-ตบ ซึ่งปรับใช้ได้กับทุกการทำงาน เช่น เวลาที่เราต้องนำเสนองาน ก็เริ่มจากเปิดเรื่องด้วยความสงสัย ชงเพื่อดึงความสนใจให้คนฟังอยากติดตาม แล้วตบท้ายด้วยข้อมูลสำคัญที่เราอยากสื่อให้คนฟังประทับใจ นี่คือหลักการที่นำไปใช้ได้กับทุกศาสตร์การเล่าเรื่องและสื่อสาร อยู่ที่ว่าเราจะสร้างสรรค์รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมเข้าไป”

 

“สิ่งเหล่านี้รวมมาเป็น DNA หรือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นขายหัวเราะได้ตรงและชัดเจนที่สุด นั่นคือ ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’ เป็นข้อความที่อยู่บนปกหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ มีที่มาจากฉายาที่แฟน ๆ และสื่อมวลชนสมัยก่อนใช้เรียกเรา เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เจนไหน อายุเท่าไหร่ เพศอะไร ขายหัวเราะก็พร้อมจะทำให้ทุกคนในบ้านสนุกไปกับมุกตลกสร้างสรรค์ เป็นความขบขันที่คนไทยคุ้นเคย”

 

ความคุ้นเคยกับ ‘ขายหัวเราะ’ เป็นเหมือนครอบครัวที่เติบโตมาด้วยกัน ทำให้คุณนิวมองเห็นโอกาสอะไรบ้าง

“ทำให้เข้าใจแบรนด์และรู้ขั้นตอนการทำงานทั้งหมด มองเห็นเป็นภาพกว้างทุกส่วน เมื่อพื้นฐานแน่นแล้ว เราจึงคิดต่อยอดเหมือนลากเส้นต่อจุดเพิ่มเติมต่อไปได้ กลายเป็นภาพใหม่ที่เราอยากให้เป็น แต่ความคุ้นเคยมากเกินไป ก็กลายเป็นการตีกรอบความคิด”

 

“นิวแก้ปัญหาโดยรับคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทีม แล้วทำความเข้าใจขายหัวเราะผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ว่าเขาเห็นอะไร ทั้งจุดอ่อนที่ต้องพัฒนา จุดแข็งที่ต่อยอดได้ หากเราสนใจแต่มุมมองของคนในด้วยกันเอง ขายหัวเราะอาจจะย้ำอยู่กับที่ เราต้องสำรวจมุมมองจากคนนอก พร้อมกับหาไอเดียที่น่าสนใจรอบตัว เพราะเราทำงานกับความสร้างสรรค์ จึงหยุดคิดหยุดหาแรงบันดาลใจไม่ได้”

 

“คุณพ่อคุณแม่มีวิสัยทัศน์ไกลมาโดยตลอดว่า ขายหัวเราะไม่ได้เท่ากับสิ่งพิมพ์ แต่จุดแข็งของขายหัวเราะ คือ Soft Power ด้านการ์ตูน คาแรกเตอร์ และอารมณ์ขัน ซึ่งต่อยอดไปเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นตามแต่ความคิดสร้างสรรค์จะพาไป”

 

“การ์ตูนของเราสามารถใช้ Storytelling ได้ทุกวงการ ทั้งเรื่องมีสาระ บันเทิง การตลาด หรือความร่วมมือระหว่างแบรนด์ที่เรียกว่า Collaboration ก็เป็นไปได้สำหรับทุกชนิดสินค้า หรือต่อยอดไปเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์กว่า แล้วใช้ช่องทางการสื่อสารไปให้ตรงกับความสนใจของผู้คนได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ ออฟไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว เราสามารถสื่อความเป็นขายหัวเราะผ่านผลิตภัณฑ์ งานอีเวนต์ แคมเปญการตลาด ไปได้หมดทุกช่องทางและวงการ แม้แต่เรื่องยาก ๆ ที่ดูวิชาการและเฉพาะทางอย่างการแพทย์ หรือการเงินการลงทุน เราก็สามารถนำการ์ตูนขายหัวเราะมาเล่าเรื่องให้สนุกและเข้าใจง่าย นี่คือโอกาสใหม่ของขายหัวเราะที่นิวมองเห็น”

 

ดูเหมือนว่า คนคือทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญที่สุดในธุรกิจสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่เกิดได้จากแต่ละคนคิด

“ใช่เลยค่ะ ความสร้างสรรค์เริ่มต้นจากคนคิด นิวให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลมาก ๆ หน้าที่ของนิวคือ เชื่อมทุกคนให้ทำงานเป็นทีมเดียวกัน มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน ทำให้คนทำงานได้อย่างราบรื่น ขจัดทุกอุปสรรคที่เขาขจัดไม่ได้ออกไปให้ได้มากที่สุด ให้การสนับสนุนคนทำงานได้เต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคหรือปัญหาอะไร สำคัญที่สุดคือการกระตุ้นและให้กำลังใจว่าทุกคนทำได้ เพราะนิวเชื่อมั่นในความสามารถของทุกคน และที่สำคัญคือทุกคนสามารถพัฒนาและเติบโตได้หากได้รับการสนับสนุนและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม”

 

‘ขายหัวเราะ’ ปรับตัวอย่างไร ในยุคที่สิ่งพิมพ์จำนวนมากปรับตัวเป็นคอนเทนต์ออนไลน์และเว็บไซต์กันหมด

“ขายหัวเราะไม่เท่ากับสิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์เป็นแค่ Tool ช่องทางหนึ่งที่เราใช้สื่อสารไปถึงผู้อ่าน จริง ๆ แล้วขายหัวเราะเท่ากับ ‘แบรนด์’ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างการ์ตูน คาแรกเตอร์ และอารมณ์ขัน”

 

“ในการ Storytelling สื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ การคิดงานจึงต้องเป็น Creative Based หรือตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบ การคิดและปรับตัวไปในแนวทางนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ขายหัวเราะได้มากขึ้น เพราะอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการ์ตูน คาแรกเตอร์ และอารมณ์ขัน เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้ทั้งหมด”

 

“ในขั้นตอนการปรับตัวช่วงฝุ่นตลบ ทำให้เรากล้าลองผิดลองถูก จนหาทางของตัวเองเจอ คือ หารูปแบบธุรกิจที่ทำให้เติบโตต่อไปได้ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในระดับวินาที โดยเฉพาะการร่วมมือกับแบรนด์อื่น การต่อยอดเป็นโปรดักส์ใหม่ การพัฒนาฐานแฟนในสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ของขายหัวเราะเองในฐานะ Media & Character Influencer และ Service การสร้างสรรค์คาแรกเตอร์การ์ตูนให้องค์กรและแบรนด์ต่าง ๆ ที่เราทำได้ครบวงจรทั้งหมดตั้งแต่เริ่มพัฒนาไปจนถึงต่อยอดในสื่อ อีเวนต์ และสินค้า”

 

“อย่างปีที่ผ่านมา ขายหัวเราะจับมือกับแสนสิริ ทำแคมเปญ ‘บ้านนี้ ฮะ ฮะ ฮ่า’ ต่อยอดนำตัวการ์ตูนในขายหัวเราะไปใช้สื่อสารโปรโมตแบรนด์และสินค้าอสังหาฯ ของแสนสิริ โดยตัวการ์ตูนไม่ใช่แค่พรีเซนเตอร์แต่ยังเป็นตัวแทน End-User หรือกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ของแสนสิริด้วย จนได้รับรางวัล ADMAN 2022 ในหมวด Public Relations Plan”

 

“รางวัลนี้มีความหมายกับขายหัวเราะมาก เพราะเราพยายามปรับตัวกันอย่างหนัก หลายครั้งเราไม่รู้หรอกว่าที่ทำอยู่ดีแล้วหรือยัง พอได้รางวัลนี้ เหมือนเป็นสิ่งยืนยันในความพยายามของคนทำงานขายหัวเราะได้ แล้วปีที่เราได้รางวัล ทาง ADMAN แสดงความยินดีกับเราว่า ขายหัวเราะคือสตูดิโอการ์ตูนไทยเจ้าแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เอเจนซี่โฆษณา”

 

‘ความสร้างสรรค์’ และ ‘ความขบขัน’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร ในมุมมองของ ‘ขายหัวเราะ’

“ข้อได้เปรียบของคนไทยคือเรามี DNA ด้านอารมณ์ขันสูง สังเกตได้จากในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าเหตุการณ์จะจริงจังแค่ไหน เราก็สามารถหาแง่มุมพลิกเหตุการณ์นั้นให้กลายเป็นเรื่องตลกได้อย่างไม่น่าเชื่อ คนก็มักจะเอาภาพข่าวหรือเหตุการณ์ที่เป็นไวรัลมาเปลี่ยนเป็นมีมตลกที่สร้างความบันเทิงต่อได้ นี่คือความสร้างสรรค์ด้านความตลกที่อยู่ในคนไทย เราพร้อมจะเฮฮาและหัวเราะไปด้วยกันเสมอ”

 

“สิ่งที่คนไม่ค่อยสังเกตคือ จริง ๆ แล้วเรื่องอารมณ์ขันนั้นใช้ความสร้างสรรค์สูงมาก แต่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ด้านความตลก เพราะเป็นศาสตร์และบุคลิกเฉพาะตัว เราจะเห็น Talent ด้านอารมณ์ขันหลาย ๆ ท่านในไทย ทั้งสายศิลปินการ์ตูนหรือตลกอื่น ๆ มักจะต้องหัวไว มีปฏิภาณไหวพริบ ช่างสังเกต ความสนใจหลากหลาย คอยดูว่าคนฟังมักจะตลกกับเรื่องอะไร อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือสถานการณ์ที่ทุกคนคุ้นเคย แล้วเลือกหยิบสิ่งนั้นมาใส่ความคิดสร้างสรรค์ด้านความตลก ตีความใหม่ หาแง่มุมเล่าใหม่ ปล่อยมุกในจังหวะใหม่ และเลือกสื่อสารผ่านลายเส้นใหม่ เกิดเป็นมุกสดใหม่ที่เรียกเสียงหัวเราะได้”

 

“มุกตลกขบขันหนึ่งภาพของขายหัวเราะจึงแฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากมายที่แหลมคม อาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะความขบขันคือศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายความสามารถคนทำงานมาก ๆ”

 

หากเปรียบ ‘ขายหัวเราะ’ เป็นคนหนึ่งคน คุณนิวมองเห็นเป็นคนแบบไหน และมีคาแรกเตอร์อย่างไร

“เป็นคนที่มีคาแรกเตอร์หลากหลาย เข้าได้กับทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นคนที่ติดตามอ่านขายหัวเราะมาตั้งแต่แรกเหมือนนิว จะมองเห็นเป็นเพื่อนสมัยเด็กที่โตมาด้วยกัน มีความผูกพันระหว่างกัน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ จะเห็นเป็นคนทะเล้น ตลก และสนุกสนาน เพราะขายหัวเราะก็เป็นเหมือนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ นี่แหละ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เติบโตและปรับตัวไปได้อย่างต่อเนื่องตามยุคสมัย แต่สิ่งสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือ ความอารมณ์ดีที่คอยมอบแรงบันดาลใจ เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มให้ทุกคนที่อยู่รอบข้าง”

 

‘ขายหัวเราะ’ สร้างแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างไรบ้าง

“สิ่งหนึ่งที่จับใจนิวตลอดคือกำลังใจจากแฟน ๆ ที่มองเห็นขายหัวเราะเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้ ผ่านผลงานที่เราสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเราในฐานะคนทำงานก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคนอ่านและคนที่ติดตาม นิวเชื่อว่าโลกขับเคลื่อนได้เพราะทุกคนต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันในทุก ๆ เรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องการทำงานสร้างสรรค์หรือการทำธุรกิจ เพราะแรงบันดาลใจทำให้เกิดความคิดที่ต่อยอดไปได้ไม่รู้จบ”

 

“ล่าสุดขายหัวเราะได้รับรางวัล CTC Creative Business Awards ในฐานะธุรกิจที่นำความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดเป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจและคุณค่าให้กับสังคม ถ้าเรานำความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดในธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปในแบบที่ไม่เหมือนเดิม เท่ากับเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ จากเดิมขายหัวเราะอยู่แต่ในหน้ากระดาษ ตอนนี้ขายหัวเราะอยู่ได้ในทุกที่ เพราะมีความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวเชื่อม ทำให้คนเห็นขายหัวเราะอยู่ร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ เกิดเป็นผลงานที่มีอารมณ์ขันและความสนุกสนาน ที่ข้ามไปยังพรมแดนใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อไปได้อีกในวงกว้างขึ้น”

 

อะไรคือเกณฑ์ที่ ‘ขายหัวเราะ’ ใช้ตัดสินใจว่าจะ Collaboration กับแบรนด์อื่นๆ

“คำว่า Collaboration คือการร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างกันขนาดไหน เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้ว สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากความสร้างสรรค์ร่วมกัน ต้องส่งเสริมธุรกิจของกันและกัน นี่คือคุณค่าที่สำคัญที่สุดของ Collaboration ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เข้ากันได้ โดยไม่พยายามฝืนยัดเยียดเกินไป มองไปที่โอกาสใหม่ ๆ จุดแข็งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เกณฑ์ที่เราใช้ตัดสินใจว่าจะร่วมทำแคมเปญหรือโปรดักส์ใหม่กับแบรนด์ไหนอยู่ตรงนี้”

 

“อย่างการร่วมมือกันระหว่าง ขายหัวเราะ กับ Preduce ซึ่งเป็นแบรนด์สเก็ตบอร์ดชั้นนำของไทยที่ได้รับความยอมรับในวงการนักสเก็ต ดูเผิน ๆ ทั้งสองแบรนด์ต่างกันมาก แต่ถ้ามองลึกลงไปจะเห็นว่าจุดร่วมที่ทั้งสองแบรนด์มีเหมือนกันคือ ความสนุกและศิลปะ”

 

“ขายหัวเราะเป็นความสนุกของการ์ตูนแก๊ก ส่วน Preduce เป็นความสนุกของการเล่นสเกต จุดร่วมอีกจุดคือความเป็นศิลปะของการ์ตูนและสตรีทอาร์ต จนกลายเป็นความลงตัวเพราะมีเรื่องราวที่ส่งเสริมและสร้างคุณค่าให้กันได้ แต่พอเราใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ก็เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่ดูสนุกกว่าเดิม”

 

“หรือตอนที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาชวนขายหัวเราะเป็น Official Partner เพื่อประชาสัมพันธ์เกาะในจังหวัดตราดให้เป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวแห่งใหม่ ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่โผล่ขึ้นมากลางทะเล บนเกาะมีแค่ต้นไม้ต้นเดียว เพราะเหมือนภาพเกาะในแก๊กการ์ตูนของขายหัวเราะ คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่เห็นจึงเรียกกันเองตามความคุ้นเคยจากภาพจำการ์ตูนเราว่า ‘เกาะขายหัวเราะ’ เราเลือกใช้ Soft Power ของการ์ตูน คาแรกเตอร์ และอารมณ์ขัน สร้าง Story ให้เกาะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยโปรโมตการท่องเที่ยว เราดีใจมากที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก หลังจากซบเซามานาน”

 

“เราอยากผลักดันการ์ตูนและใช้ความเชี่ยวชาญด้าน Soft Power มาช่วยเรื่องการท่องเที่ยวมานานแล้ว อย่างที่ประเทศที่เป็นผู้นำด้านนี้อย่างญี่ปุ่น เกาหลี เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสได้ทำ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาชวน เราจึงยินดีมาก เพราะพลังของความคิดสร้างสรรค์นี่แหละ ที่เปลี่ยนโลกนี้ให้น่าอยู่มากขึ้น”

 

‘ขายหัวเราะ’ มีส่วนช่วยผลักดันและขับเคลื่อน Soft Power และ Creative Economy ด้านการ์ตูนและคาแรกเตอร์ไทยให้ไปไกลถึงระดับโลกได้อย่างไร

“นี่คือความตั้งใจหลักของนิว เพราะเราอยากผลักดันการ์ตูนและคาแรกเตอร์ไทยให้กลายเป็นที่จดจำในระดับโลกในสองด้าน ด้านแรกคือใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ เวลาเรามองเห็นประเทศที่ใช้ Soft Power เก่ง อย่างญี่ปุ่นและเกาหลี เราจะชื่นชมเขาด้วยตาลุกวาว เพราะเราทำงานธุรกิจนี้จึงมองเห็นตลอดว่า สิ่งสร้างสรรค์มีพลังมากกว่าที่เราคิด”

 

“ตอนที่เชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ และสร้างความตื่นตระหนกในสังคมมาก เนื่องจากตอนนั้นความรู้เรื่องโควิดที่เชื่อถือได้ยังไม่มาก เฟกนิวส์เต็มไปหมด ขายหัวเราะจึงตั้งใจทำการ์ตูนสื่อสารวิธีป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เราจึงริเริ่มจากทำการ์ตูนที่บอกข้อมูลสำคัญให้คนอ่านเข้าใจทันที เข้าใจง่าย สนุก และเข้าถึงผู้คนได้ทุกวัย โดยใช้สื่อออนไลน์ของขายหัวเราะซึ่งมีฐานแฟนจำนวนมากในการสื่อสาร โดยร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีอย่างยิ่ง แต่ที่เหนือความคาดหมายมาก ๆ คือ การ์ตูนความรู้ที่เราทำดันไปเข้าตาหน่วยงานระดับโลกอย่าง WHO หรือองค์การอนามัยโลก”

 

“องค์การอนามัยโลกจึงร่วมกับขายหัวเราะ นำผลงานที่ขายหัวเราะสร้างสรรค์ไปตีพิมพ์และทำ eBook เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม ภาษาเมียนม่าร์ ภาษาลาว และภาษากัมพูชา เพื่อแจกจ่ายข้ามพรมแดนไปทำประโยชน์ให้ประชากรโลกในระดับสากลด้วย ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่การ์ตูนไทยได้ทำหน้าที่ Soft Power ซึ่งมากกว่าการให้คนต่างประเทศรู้จักการ์ตูนคาแรกเตอร์ไทย แต่คือการได้ช่วยปกป้องชีวิตคนและช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้ความสามารถที่เราเชี่ยวชาญคือการเล่าเรื่องและการวาดการ์ตูน”

 

“เรื่องความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไม่เป็นรองใคร ตอนนี้เราทำในระดับที่เราทำเองได้ แต่ในระยะยาวเราต้องการโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อช่วยกันผลักดันให้วงการการ์ตูนไทยไปไกลถึงระดับโลก เพราะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าช่วยสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่อไปได้ เหมือนมังงะของญี่ปุ่นหรืออุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลี โดยใช้ทุนเริ่มต้นคือความคิดสร้างสรรค์ซึ่งคนไทยมีในตัวสูงมาก ๆ อยู่แล้ว และในส่วนของศิลปินนักวาดไทยก็มีฝีมือมากมายซึ่งล้วนแต่ไปไกลกว่านี้ได้มาก ๆ หากมี Eco-System ที่เหมาะสมสนับสนุน”

 

ผลงานสร้างสรรค์ที่อยากให้ทุกคนติดตาม

“ปีนี้ ขายหัวเราะครบรอบ 50 ปีพอดี เราจึงตั้งใจให้ปีนี้เป็นปีที่พิเศษและปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ครึ่งปีหลัง ขายหัวเราะมีโปรเจกต์ Collaboration ที่ไม่เคยทำมาก่อนกับแบรนด์และองค์กรชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่แตกต่างไปในแต่ละเดือนจนถึงสิ้นปี”

 

“ทุกแบรนด์ที่เรา Collab เป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักกันดี ทั้งแบรนด์ในตำนานที่เติบโตมาพร้อมกับขายหัวเราะ เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางมาตลอด 50 ปี ถ้าขายหัวเราะเป็นความฮาสามัญประจำบ้าน แบรนด์เหล่านี้ก็คือแบรนด์สามัญประจำบ้าน รวมถึงแบรนด์ใหม่ไฟแรง โดยแบรนด์แรกที่เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยขายหัวเราะจะไปสร้างความสุขในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และจะมีแบรนด์อื่น ๆ น่าจับตามองตามมาอีกแน่นอน ซึ่งทุก ๆ แบรนด์เมื่อขายหัวเราะไปจับมือด้วยแล้ว จะได้เห็นผลงานที่เป็นมิติใหม่ ๆ โปรดรอติดตามกันและเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะคะ”

 

อนาคตของ ‘ขายหัวเราะ’ ที่คุณนิวตั้งใจอยากให้เป็น

“50 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่นิวมองเป็นจุดเริ่มต้น ระยะเวลา 50 ปีได้พิสูจน์แล้วว่าขายหัวเราะเป็นได้มากกว่าหนังสือการ์ตูน นับจากนี่ไปอีก 50 ปี จนถึงปีที่ 100 จะเป็นก้าวใหม่ของขายหัวเราะ ที่จะผลักดันความคิดสร้างสรรค์ในการ์ตูนไทย ให้คนไทยภูมิใจในขายหัวเราะว่าความฮาสามัญประจำบ้านแบบนี้ยังไปได้ไกลกว่านี้และจะเติบโตสร้างเสียงหัวเราะเคียงข้างคนไทยทุกเจเนอเรชั่นต่อไป”

 

อะไรคือ ‘ความสุข’ ของคนทำงานใน ‘ขายหัวเราะ’

“คุณพ่อเคยถามนิวว่า ภารกิจของขายหัวเราะคืออะไร ตอนแรกนิวก็ตอบว่า คือการทำคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ แต่คุณพ่อมองว่าภารกิจของเรา คือ ‘การสร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้กับผู้คน’ การได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยหัวเราะและยิ้มได้ หรือทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายหลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่ทำให้เครียดที่สุดในชีวิตไม่ว่าจะมากหรือน้อย”

 

“หรืออีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำให้คนทำงานขายหัวเราะมีความสุขที่สุด คือ ความผูกพัน หลายคนมีความทรงจำที่มีความสุขกับขายหัวเราะในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต เช่น หัดอ่านหนังสือได้ครั้งแรกจากขายหัวเราะ หรือแอบเอาเงินของญาติผู้ใหญ่ไปซื้อขายหัวเราะ หรือเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มแรกที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อให้ หรืออ่านบ่อยในร้านตัดผม หรือคุณพ่อคุณแม่ตั้งชื่อลูกตามตัวการ์ตูนในขายหัวเราะ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ความสุขที่ผลิดอกออกผลเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของใครหลายคน เรารู้สึกอบอุ่นหัวใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและอารมณ์ที่มีความสุขของผู้คนไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหรือในปัจจุบัน”

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...